ครม.ไฟเขียวแผน เพิ่มประสิทธิภาพอ้อยครบวงจร 2562-2564 อนุมัติวงเงินกู้ 6,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ชาวไร่ซื้อเครื่องจักรการเกษตร รถตัดอ้อย พัฒนาแหล่งน้ำ ตั้งเป้าเลิกเผาอ้อยภายใน 3 ปี ลดมลพิษทางอากาศ พร้อมร่าง กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบ สินค้าเกษตร
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ปี 2562-2564 โดยให้สินเชื่อกับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคลและวิสาหกิจชุมชน วงเงินกู้ปีละ 2,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2564 รวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ สินเชื่อดังกล่าว กำหนดให้ใช้ เงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีเงินกู้แต่ละรายต้องไม่เกิน 29 ล้านบาท แยกเป็นเงินกู้เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ และการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย และปรับพื้นที่ปลูกอ้อย วงเงินกู้ไม่เกินรายละ 500,000 บาท รวมทั้งอีกส่วนเป็นเงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร แยกเป็น รถตัดอ้อยใหม่ขนาดใหญ่ มีวงเงินกู้ไม่เกินรายละ 15 ล้านบาทและรถตัดอ้อยใหม่ขนาดกลาง วงเงินกู้ไม่เกินรายละ 10 ล้านบาทส่วนรถตัดอ้อยเก่าขนาดใหญ่ มีวงเงินกู้ไม่เกินรายละ 10 ล้านบาทและรถตัดอ้อยใหม่ขนาดกลาง วงเงินกู้ไม่เกินรายละ 8 ล้านบาท
สำหรับอัตราดอกเบี้ย แยกเป็นเกษตรกรรายบุคคล คิดดอกเบี้ยในอัตรา 2% ต่อปี เช่นเดียวกับกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคลและวิสาหกิจชุมชน ที่คิดดอกเบี้ย 2% ต่อปี ส่วนกรณีการกู้เงินเพื่อจัดซื้อรถตัดอ้อย ประเภทรถแทรกเตอร์ หรือรถบรรทุก คิดดอกเบี้ยในอัตรา 4% ต่อปี โดยรัฐบาลไม่ต้องชดเชยดอกเบี้ยในส่วนนี้ แต่ ธ.ก.ส.รับภาระชดเชย 1% ต่อปี โดยมีกรอบวงเงินงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยประมาณ 599.43 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังขอความร่วมมือด้านการบริหารจัดการ เพื่อเป็นต้นแบบการเก็บเกี่ยว และการขนส่งอ้อยให้โรงงาน โดยความร่วมมือจากโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย ในฤดูการผลิตปี 2562/2563 เพื่อกำหนดพื้นที่ปลอดการเผาอ้อย เป็นจังหวัดต้นแบบปลอดการเผาอ้อย ตัดอ้อยสด 100% ในแต่ละภาค รวม 5 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ราชบุรี ชัยภูมิ เลย และอุตรดิตถ์ การจัดการพื้นที่ลดการเผาอ้อย รอบชุมชนในรัศมี 5 กิโลเมตร และรอบโรงงานน้ำตาลในรัศมี 10 กิโลเมตร และการบูรณาการ ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดคิวรับอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้ด้วย
ตั้งเป้าไร่การเผาอ้อยใน 3 ปี
นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ โดยตั้งเป้าหมายให้การเผาอ้อยต้องหมดไปจากประเทศไทยภายใน 3 ปี หรือภายในปี 2565 ด้วยการกำหนดมาตรการทางกฎหมาย เพื่อลดปริมาณ เผาอ้อยลงเป็นรายปี โดยในฤดูการผลิตปี 2562/2563 จะหักราคาอ้อยไฟไหม้จากชาวไร่ อ้อยตันละ 5% และให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกินวันละ 30% ในฤดูการผลิต ปี 2563/2564 หักราคาอ้อยไฟไหม้ตันละ 10% และให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกินวันละ 20% ส่วนในฤดูการผลิตปี 2564/2565 หักราคาอ้อยไฟไหม้ตันละ 15% และให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้ เข้าหีบได้ ไม่เกินวันละ 0-5% ทั้งนี้ยังมีมาตรการสนับสนุนการจัดหารถตัดอ้อยใหม่ และการจัดหาแหล่งเงินทุน ตั้งเป้าหมาย จัดหารถตัดอ้อยเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 4,000 คัน ในปี 2565 ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 1,802 คัน โดยจัดหาจากผู้ผลิตรถตัดอ้อยไทย และนำเข้าจากต่างประเทศ
หนุนรถตัดอ้อยค้ำเงินกู้
โดยรัฐจะสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตรถตัดอ้อยไทย ด้วยการเพิ่มศักยภาพการผลิตและจำหน่าย ให้เพียงพอกับความต้องการ และส่งเสริมการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดยการใช้รถตัดอ้อยและเครื่องจักรกลการเกษตรอื่นๆ นำไปจดทะเบียนเครื่องจักรตามกฎหมายกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อนำไปเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันกับแหล่งเงินกู้ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. .. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยกำหนดให้ยกเลิก กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2553
กำหนดให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก และผู้นำเข้าสินค้าเกษตรยื่นคำขอต่อผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานและกำหนดให้เมื่อ ผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานได้รับคำขอ พร้อมทั้งเอกสารหรือหลักฐานถูกต้อง และครบถ้วนแล้ว ให้ดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเกษตรนั้นทันที
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12 มิถุนายน 2562